เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับภาวะท้องผูกกับมะขามแขก
ภาวะท้องผูก จัดเป็นอาการที่เกิดกับระบบทางเดินอาหาร เกิดได้กับคนทุกเพศทุกวัย สำหรับรายที่มีอาการท้องผูกเล็กน้อย คงไม่จำเป็นต้องพึ่งยาในการรักษาแต่อย่างใด แต่หากมีอาการท้องผูกมากขึ้นและประจำ การใช้ยาก็เป็นทางเลือกหนึ่งที่จะช่วยรักษาอาการดังกล่าวได้ อย่างไรก็ตามท้องผูกจัดเป็นอาการมิใช่เป็นชื่อของโรค การจะทราบว่าใครมีภาวะท้องผูกบ้างอาจดูได้จากอาการต่อไปนี้ คือ ต้องเบ่งอุจจาระมากกว่าร้อยละ 25 ของการขับถ่ายทั้งหมดหรือการมีภาวะอุจจาระแข็ง ถ่ายอุจจาระไม่หมด รู้สึกตุงบริเวณทวารหนัก หรือต้องใช้นิ้วล้วง
สาเหตุการเกิดอาการท้องผูกอาจเกิดได้จาก
1. มีความผิดปกติทางกายภาพ ซึ่งอาจเกิดจากความผิดปกติทางสรีระ หรือโรคของลำไส้ รูทวารไขสันหลัง ความผิดปกติของเส้นประสาทที่ควบคุมการถ่ายการอุดตันของลำไส้ มะเร็งลำไส้ หรือพบร่วมกับโรคของระบบอื่น เช่น ภาวการณ์มีฮอร์โมนไทรอยด์ต่ำ และการใช้ยาบางชนิด เช่น ยากล่อมประสาท ยาคลายความกังวล ยารักษาโรคจิตและอาการซึมเศร้า เป็นต้น
2. ท้องผูกโดยไม่มีความผิดปกติทางกายภาพ เป็นอาการท้องผูกที่พบในคนที่มีสุขภาพแข็งแรงไม่มีโรค สาเหตุอาจเกิดได้จากอุปนิสัยการขับถ่าย ความเป็นอยู่หรือสิ่งแวดล้อม อารมณ์และจิตใจก็ได้ เช่น การรับประทานอาหารที่มีกากน้อย ดื่มน้ำน้อย การขาดการออกกำลังกาย เป็นต้น หรือแม้แต่การกลั้นอุจจาระเนื่องจากความรีบร้อนในการทำงาน ทำให้ละเลยต่อการปวดถ่าย
การรักษาอาการท้องผูก
1. การรักษาโดยไม่ใช้ยา กรณีภาวะที่มีอาการท้องผูกไม่รุนแรง อาการหายไปโดยไม่ต้องใช้ยาได้ ซึ่งมีข้อแนะนำดังนี้
– ควรรับประทานอาหารที่มีกาก เช่น ผักต่าง ๆ และดื่มน้ำมาก ๆ
– พยายามปรับสภาพชีวิตประจำวันให้มีการออกกำลังกายให้มากขึ้น เช่น ลดการใช้ลิฟท์หรือบันไดเลื่อนแล้วใช้การเดินแทน หรือการเดินแทนการขึ้นรถในระยะทางใกล้ๆ
– บริหารร่างกายส่วนที่ให้ผลโดยตรงต่อกล้ามเนื้อหน้าท้อง เพราะจะช่วยให้ขับถ่ายได้เป็นปกติและเป็นเวลา เช่น การให้นอนราบ เอามือวางบนอก เกร็งกล้ามเนื้อให้พยุงตัวขึ้นนั่ง โดยพยายามอย่างอเข่าหรือยกเท้า ทำซ้ำเช่นนี้หลายๆครั้ง
2. การรักษาโดยการใช้ยา เมื่อเกิดภาวะท้องผูกและมีความจำเป็นต้องใช้ยาในการรักษาควรใช้เป็นการชั่วคราวเท่านั้น ไม่ควรใช้ติดต่อกันเกิน 1 สัปดาห์โดยเฉพาะยากลุ่มที่กระตุ้นการบีบตัวของลำไส้ ทั้งนี้เพื่อหลีกเลี่ยงการติดยาและการเกิดกลุ่มอาการท้องผูกสลับท้องเสีย (Irritable Bowel Syndrome) ซึ่งจะทำให้การทำงานของลำไส้ใหญ่ลดลงมากกว่าปกติ เยื่อเมือกบุผนังลำไส้เหี่ยวผิดปกติ กล้ามเนื้อใต้เยื่อบุผิวลำไส้หนามากขึ้น ปมประสาทเสื่อมและเกิดการสูญเสียโปรตีนทางลำไส้ได้ (อ้างอิงที่ 1)
ยากระตุ้นการบีบตัวของลำไส้ (Stimulants) มีอยู่หลายกลุ่ม ได้แก่ กลุ่มไดฟีนีล-มีเทน (Diphenylmethanes), น้ำมันละหุ่ง (Castor Oil), กลุ่มแอนตี้โคลีนเอสเทอเรส (Anticholinesterases), ยาเหน็บกลีเซอรีน (Glycerin), กลุ่มแอนทราซีนไกลโคไซด์ (Anthracene Glydosides) (อ้างอิงที่ 1 ) หนึ่งในยากระตุ้นการบีบตัวของลำไส้ที่รู้จักกันดี คือ มะขามแขก ซึ่งเป็นยาในกลุ่มแอนทราซีนไกลโคไซด์ (Anthracene Glycosides)
มะขามแขก มีชื่อสามัญภาษาอังกฤษคือ Senna มีชื่อทางวิทยาศาสตร์คือ Senna alexandrina P. Miller หรือ Cassia angustifolia มีประวัติการนำมาใช้เป็นยาระบายมานานเกือบ 100 ปี ในใบและฝักมะขามแขกมีสารที่ชื่อ แอนทราควิโนนซึ่งมีฤทธิ์กระตุ้นการบีบตัวของลำไส้ใหญ่ ทำให้ถ่ายท้องได้ (อ้างอิงที่ 2) มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์เป็นจำนวนมาก รองรับสรรพคุณของมะขามแขก ดังนี้
1. ด้านสาระสำคัญในการออกฤทธิ์เป็นยาถ่าย
มีการศึกษาพบฤทธิ์เป็นยาถ่าย สารที่ออกฤทธิ์คือ Sennoside A และ B, Aloe emodin, Dianthrone glycoside ซึ่งเป็น Anthraquinone glycoside สาร Anthraquinone glycoside สาร Anthraquinone glycoside จะยังไม่มีฤทธิ์เพิ่มการขับถ่ายเมื่อผ่านลำไส้เล็กเมื่อผ่านเข้าไปในลำไส้ ใหญ่ Sennoside A จึงถูก Hydrolyze ได้ Sennoside A8-monoglu-coside และถูก Hydrolyzed โดย Bata-glycosidase จากแบคทีเรียในลำไส้ใหญ่ และอุจจาระได้แก่ Bacillus, E. Coli ได้ Sennidin A ส่วน Sennoside B ก็จะถูก เปลี่ยนแปลงด้วยกระบวนการเช่นเดียวกันได้ sennidin B ทั้ง Sennidin A & B จะเปลี่ยนกลับไปกลับมาได้ และถูกเปลี่ยนต่อไปเป็น Rheinanthrone ซึ่งออกฤทธิ์ต่อลำไส้ส่วน Colon โดยตรงสาระสำคัญนี้จะกระตุ้นกลุ่มเซลล์ประสาทซึ่งอยู่ใต้ชั้น Submucosa ทำให้เกิดการบีบตัวของลำไส้ (อ้างอิงที่ 3)
2. ฤทธิ์ในการกระตุ้นการเคลื่อนไหวของลำไส้
มีผู้พบฤทธิ์กระตุ้นลำไส้ใหญ่ (อ้างอิงที่ 3) และมีการศึกษาในอาสาสมัคร 12 คนโดยให้ดื่มชามะขามแขก เปรียบเทียบกับการรับประทานยา Erythromycin จากนั้นทำการถ่ายภาพลำไส้ใหญ่ด้วยวิธี Magnetic Resonance Imaging (MRI) ก่อนและหลังได้รับชาชงหรือยา พบว่ากลุ่มที่ได้รับชาชงมะขามแขกจะทำให้ลำไส้ใหญ่ส่วน Colon มีการเคลื่อนไวมากกว่ากลุ่มที่ได้รับ Erythromycin อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (อ้างอิงที่ 3,4)
3. การทดลองทางคลินิกสำหรับใช้รักษาอาการท้องผูก
มีการศึกษาในผู้ป่วยหลังผ่าตัดมะเร็งต่อมลูกหมาย หรือมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ ที่มีอาการท้องผูกจำนวน 92 คน อายุระหว่าง 43-82 ปี โดยให้ ผู้ป่วย 61 คน รับประทานยาแคลเซียมเซนโนไซด์ ซึ่งเป็นแคลเซียามฟอร์มของเซนโนไซด์จากใบมะขามแขกที่ใช้เป็นยาระบาย ขนาดเม็ดละ 15 มก. 2 เม็ด ก่อนนอนทุกคืน หลังผ่าตัดในวันที่ 1 และให้รับประทานติดต่อกันจนถึงวันที่ 7 หลังการผ่าตัด และคนไข้อีก 31 คน เป็นกลุ่มควบคุมไม่ได้รับยาระบายใด ๆ พบว่าผู้ป่วยที่รับประทานยาแคลเซียมเซนโนไซด์ถ่ายอุจจาระคล่อง ตั้งแต่วันที่ 1 ถึงวันที่ 4 หลังรับประทานยา คิดเป็นร้อยละ 90 การถ่ายอุจจาระเฉลี่ยวันละ 1.23 ครั้ง/คน ส่วนกลุ่มควบคุมมีเพียงร้อยละ 19 เท่านั้น ที่ถ่ายอุจจาระคล่องสัดส่วนของการถ่ายอุจจาระคล่องในผู้ป่วยที่รับประทานยา แคลเซียมเซนโนไซด์มากกว่าผู้ป่วยที่ไม่ได้รับยาอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (อ้างอิงที่ 3)
นอกจากนี้ยังมีการศึกษาในผู้ป่วยหลังผ่าตัดมะเร็งต่อมลูกหมาก จำนวน 81 ราย อายุระหว่าง 52-86 ปี โดยแบ่งผู้ป่วยออกเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มควบคุมซึ่งไม่ได้รับยา กลุ่มที่ 2 เป็นกลุ่มที่ได้รับยาเม็ดมะขามแขก 2 เม็ดก่อนนอนทุกคืน หลังผ่าตัดในวันที่ 1 ติดต่อกันนาน 14 วัน กลุ่มที่ 3 เป็นกลุ่มที่ได้รับยาระบาย Milk of Magnesia (MOM) 30 มล. ก่อนนอน นาน 14 วันจากนั้นทำการบันทึกลักษณะอุจจาระและจำนวนครั้งของการถ่ายอุจจาระ พบว่าสัดส่วนของผู้ที่มีอาการท้องผูกและท้องเสียมีความแตกต่างกันระหว่าง 3 กลุ่มอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ กลุ่มควบคุมถ่ายอุจจาระไปทางแข็งที่ไม่พึงประสงค์มากกว่ากลุ่มอื่น ส่วนกลุ่ม MOM ถ่ายไปในทางเหลวและน้ำมากกว่ากลุ่มอื่นจากการศึกษาในครั้งนี้สรุปได้ว่า การใช้ยาเม็ดมะขามแขกในผู้ป่วยหลังผ่าตัดมะเร็งต่อมลูกหมาก จะช่วยให้การถ่ายอุจจาระในลักษณะที่พึงประสงค์ (ปกติและเหลว) ได้ดีกว่าการใช้ยา MOM (อ้างอิงที่ 3)
มีการทดลองทางคลินิกเพิ่มเติม โดยให้มารดาที่อยู่ในช่วงให้นามบุตรหลานมะขามแขก พบว่าใช้ได้ผลดีและไม่มีผลกระทบไปถึงทารก (อ้างอิงที่ 3,5)
เอกสารอ้างอิง
1. เอกสารเผยแพร่เรื่อง การใช้ยาระบาย กลุ่มพัฒนาระบบ กองพัฒนาศักยภาพผู้บริโภค สำนักงาน
คณะกรรมการอาหารและยา http://www.oryar.com/oryor/admin/module/fda_info/file/f_39_1171707297.pdf
2. มะขามแขก องค์การเภสัชกรรม http://www.gpo.or.th/herbal/senna/senna.htm
3. มะขามแขก สมุนไพรที่ใช้ในงานสาธารณสุขมูลฐาน หน่วยบริการฐานข้อมูลสมุนไพร ณ สำนักงานข้อมูลสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล http://www.medpiant.mahidol.ac.th/pubhealth/index.asp
4. Assessment of large bowel motility by cine magnetic resonance imaging using two different prokinetic agents: a feaslbllity study. Invest Radiol. 2005 Nov;40(11):689-94.
5. Clinical study of Senna Administration to Nursing Mothers Assessment of Effects on lnfant Bowel Hobits. Can Med Assoc J. 1963 September 14: 89(11): 566-568.